
“พช.”เปิดเวทีประกวดผ้าลายพระราชทาน”ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ถิ่นอีสานที่สุดท้ายคึกคัก มีผู้เข้าร่วมประชันกว่า 1 พันผืน ครบทั้ง 15 ประเภท “ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ”ส่งชิงประกวดเยอะสุด รวมผ้าพื้นถิ่นทั่วประเทศส่งประกวดกว่า 3 พันผืน

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 09.30 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ระดับภาค โดยมี นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นางวิไลวรรณ ไกรโสดา ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ร่วมด้วยคณะกรรมการประกวดระดับภาค ผู้บริหาร พัฒนาการจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงาน ประธานคณะกรรมการเครือข่ายโอทอปจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน
ในการนี้นายจำเริญ แหวนเพ็ชร พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วย นางจิรภา เชื้อดวงผุย ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเป็นการต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทาน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งมอบต่อให้กับกลุ่มทอผ้าในทุกจังหวัด ได้นำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส “กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดทำโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ประกอบด้วย 2 กิจกรรม คือ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย หรือการ Coaching เพื่อเตรียมความพร้อมการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในกิจกรรมที่ 2 คือการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งได้มีการเปิดรับสมัครส่งผ้าเข้าประกวด จำนวน 15 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2564 ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดในพื้นที่ภูมิลำเนาของผู้สมัคร” อธิบดี พช.กล่าวสำหรับการประกวดผ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ในจุดที่ 4 นี้ มีผ้าที่ส่งเข้าประกวดครบทั้ง 15 ประเภท รวมจำนวน 1,677 ผืน ประเภทผ้าที่ส่งเข้าประกวดมากที่สุด คือ ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ ส่งเข้าประกวดมากถึง 1,070 ผืน รองลงมา คือ ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอ 294 ผืน, ผ้าขิด 92 ผืน, ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ 68 ผืน, ผ้าเทคนิคผสม 51 ผืน, ผ้ายกดอก 26 ผืน, ผ้าแพรวา 22 ผืน, ผ้าบาติก/มัดย้อม 22 ผืน, ผ้าจกทั้งผืน 10 ผืน, ผ้าปักมือ 9 ผืน, ผ้ายกเล็ก 5 ผืน, ผ้ายกใหญ่ 3 ผืน, ผ้าตีนจก 3 ผืน, ผ้าลายน้ำไหล 1 ผืน และผ้าพิมพ์ลาย 1 ผืน

จากนี้จะเป็นการประกวดในรอบ Semi Final รอบตัดสิน 75 ผืนสุดท้าย ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจะมีการประกาศผลรอบตัดสินในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ต่อด้วยการประกวดในระดับประเทศ รอบตัดสินรางวัล กำหนดดำเนินการระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2564โดยรางวัลการประกวดแบ่งเป็น 3 ประเภทรางวัล ดังนี้
-ประเภทที่ 1 The Best of the Best รางวัลชนะเลิศรางวัลเดียวจากในแต่ละประเภท นำมาออกแบบตัดเย็บฉลองพระองค์ และรางวัลเหรียญพระราชทานพร้อมสร้อยคอทองคำ
-ประเภทที่ 2 The Best รางวัลที่ 1 – 3 ของ 15 ประเภท ได้รับรางวัลเหรียญพระราชทานทองคำ เงิน และ นาก ตามลำดับ
-ประเภทที่ 3 ชมเชย Top 10 ของ 15 ประเภท ได้รับประกาศนียบัตร (Certificate)

อธิบดี พช.กล่าวด้วยว่า โดยพิธีมอบรางวัลกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ภายในงาน ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในครั้งนี้ จะทำให้ผ้าไทยภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยได้รับการอนุรักษ์สืบสาน ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ได้รับการเผยแพร่ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนผ้าไทยภูมิปัญญาไทย ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจ เชิงมหภาค ตามแนวทางพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
ทั้งนี้ เวทีประกวดฯได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างเคร่งครัด










