วันพุธ, 1 พฤษภาคม 2567

พลิกฟื้นผืนป่า คืนสมดุลธรรมชาติ เพื่อชุมชนและต้นไม้โตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

31 มี.ค. 2022
469


“ป่า” ไม่ใช่เพียงป่า แต่เป็นทรัพยากรสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนโลกให้กับพืชและสัตว์ เป็นทั้งแหล่งพักพิง แหล่งอาหาร เป็นปอดให้กับโลก และอีกนานาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม
.
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ป่าอยู่คู่กับชุมชน เพื่อให้เกิดความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน โดยได้มุ่งฟื้นฟูปรับปรุงสภาพแวดล้อมจากพื้นที่ที่ได้ใช้ทำเหมืองแร่แล้ว ให้กลับสู่สภาพใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีความเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์หรือคืนสู่ธรรมชาติ และการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ทั้งยังให้ประชาชนโดยรอบสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้อีกด้วย


.
เหมืองลิกไนต์แม่เมาะ เป็นแหล่งพลังงานสำคัญของประเทศ มีพื้นที่ในการทำเหมืองประมาณ 17,000 ไร่ และพื้นที่ทิ้งดินประมาณ 25,200 ไร่ โดยกำหนดการใช้ประโยชน์สุดท้ายของที่ดินหลังปิดเหมืองแล้ว เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ พื้นที่ปลูกป่าทดแทน 39,200 ไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำ 1,300 ไร่ และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ 1,700 ไร่ ซึ่งในอนาคตการใช้ประโยชน์สุดท้ายของพื้นที่อาจมีการปรับเปลี่ยนให้ตรงกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัยให้เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อให้พื้นที่ฟื้นฟูเหมืองแม่เมาะเกิดประโยชน์สูงสุดที่สุด ก่อนส่งมอบพื้นที่คืนแก่ภาครัฐและชุมชน
.
สำหรับการฟื้นฟูฯ ด้วยการปลูกป่าทดแทนซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2525 โดยประยุกต์ใช้หลักการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามศาสตร์พระราชาและหลักการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยแบ่งพรรณไม้ที่ปลูกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) พรรณไม้ยืนต้น เช่น สัก มะค่าโมง ประดู่ กระถินณรงค์ ยูคาลิปตัส หางนกยูงฝรั่ง ไผ่ จามจุรี สะเดา ขี้เหล็กบ้าน เพกา เสี้ยว มะขามป้อม ตะขบฝรั่ง และ 2) พรรณพืชคลุมดิน จะใช้พรรณพืชท้องถิ่นที่สามารถขึ้นปกคลุมพื้นที่รวดเร็วและบางชนิดสามารถเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงได้ เช่น หญ้าปากควาย หญ้าตีนติด หญ้าดอกสีชมพู หงอนไก่ ถั่วฮามาต้า ถั่วแปบ บานไม่รู้โรยป่า ปอเทือง กระดุมทองเลื้อย เป็นต้น
.
ปัจจุบัน กฟผ. ได้ปลูกป่าทดแทนคิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,300 ไร่ มีพรรณไม้ชนิดต่างๆ ไม่น้อยกว่า 50 ชนิด รวมแล้วกว่า 2,058,000 ต้น นอกจากนี้ กฟผ. ได้ปรับปรุงพื้นที่บางส่วนเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น สวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาฯ (ทุ่งบัวตอง) พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) สวนพฤกษชาติ ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับบุคคลทั่วไปเข้ามาเยี่ยมชมได้
.


การปลูกป่าฟื้นฟูฯ ยังทำให้เกิดการจ้างงานจากการจ้างปลูก บำรุงรักษา และการตกแต่งต้นไม้ งานจ้างหว่านพืชคลุมดิน งานจ้างผลิตกล้าไม้ งานจัดซื้อปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก งานบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจใน กฟผ.แม่เมาะ อีกทั้งได้เปิดให้ชุมชนโดยรอบการเข้ามาหาของป่าในพื้นที่ป่าฟื้นฟูฯ ที่จัดไว้อย่างเหมาะสมตามฤดูกาล เช่น การเก็บยอดอ่อนต้นขี้เหล็ก ต้นสะเดา การเก็บรวงผึ้ง ไข่มดแดง ขุดหาตัวอ่อนจักจั่น เก็บดักแด้ผีเสื้อ และการจับปลา เป็นต้น ให้ชุมชนโดยรอบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น มูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปี
.
และที่สำคัญ ป่าฟื้นฟูฯ ยังช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศให้อยู่ในส่วนประกอบต่างๆ ของต้นไม้ ทั้งลำต้น กิ่ง ใบ และราก ซึ่งสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากชั้นบรรยากาศได้ประมาณ 160,000 ตัน (คิดจากพื้นที่ป่าประมาณ 12,000 ไร่ ในปี 2564) และยังช่วยปรับปรุงระบบนิเวศให้มีสภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของดินชั้นบนมีความพรุนมากขึ้น ค่าปฏิกิริยาของดินมีค่าแนวโน้มเป็นกลาง ส่งผลต่อธาตุอาหารที่ต้นไม้สามารถนำไปใช้ เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารจากการย่อยสลายของซากอินทรีย์ เป็นต้น
.


นอกจากนี้ กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อให้ชุมชนโดยรอบมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการป่าอย่างเหมาะสมและยั่งยืน พร้อมปลูกจิตสำนึกรักหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่น ช่วยแก้ปัญหาป่าไม้อาจถูกทำลายจากการตัดไม้ทำลายป่า และการเข้าเก็บหาของป่าโดยไม่มีขีดจำกัด จนปัจจุบัน มีป่าชุมชนที่ได้ดำเนินการสนับสนุน ทั้งหมด 20 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ป่าประมาณ 23,300 ไร่
.
ไม่เพียงแต่การปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพเหมือง กฟผ. ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2565-2574) โดยมีแผนในการปลูกป่าเฉลี่ยปีละ 100,000 ไร่ ประกอบไปด้วยป่าอนุรักษ์ ป่าชายเลน ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนขนาดใหญ่ให้กับประเทศได้ประมาณ 23.6 ล้านตันตลอดทั้งโครงการ และยังเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality เพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมและอากาศให้กับประเทศในอนาคต

sXndME.png ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว-0628929797 DasKLf.jpg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
กฟผ. ขอเชิญร่วมแชร์ไอเดียประหยัดพลังงานช่วงฤดูร้อน
พิธีการลงนามสัญญาจ้างผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16
ตั้งแล้ว!!ครม.ตั้ง​ “เทพรัตน์” เป็นผู้ว่าการ ​กฟผ.หลังยืดเยื้อมาเกือบปี
บอร์ด กฟผ. ยืนยันเสนอชื่อ “นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการ กฟผ.
อค-ปส. และ อปอ. ร่วมจัดกิจกรรมวันเด็ก ประจำปี 2567 และมอบงบประมาณสนับสนุนโครงการจัดซื้อของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในพื้นที่ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงขอนแก่น 1
GULF แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า 12 บริษัทย่อยที่ถือหุ้นทางอ้อมผ่าน”บริษัทกัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด เข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. แล้ว