นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 10 – 12 เม.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ประกอบกับมีลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีพายุฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรง และในช่วงวันที่ 13 – 15 เม.ย. 64 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและผลผลิตทางการเกษตรของพี่น้องประชาชน
ทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวเป็นประจำทุกวัน เพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติภารกิจยับยั้งการเกิดพายุลูกเห็บร่วมกับกองทัพอากาศ รวมจำนวน 9 วัน ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดร์ จำนวน 194 นัด สามารถบรรเทาความรุนแรง ไม่พบลูกเห็บตกในพื้นที่ภาคเหนือบริเวณจังหวัดแพร่ พะเยา เชียงใหม่ และภาคเหนือตอนล่างบริเวณจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เชียงราย เชียงใหม่ และตาก ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวเป็นเทคนิคการใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดร์ยิงเข้าไปสลายก้อนเมฆที่มีแนวโน้มจะพัฒนาตัวไปเป็นเมฆเย็น (เมฆที่มีเม็ดน้ำในก้อนเมฆเป็นน้ำแข็ง) เพื่อให้สลายตกลงมาเป็นฝน ลดความรุนแรงที่จะเกิดความเสียหายได้
นายสุรสีห์ กล่าวว่า ภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาหมอกควันไฟป่า เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดย 13 หน่วยปฏิบัติการ ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.- 8 เม.ย.64 ได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง รวม 45 วัน 538 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ รวม 44 วัน คิดเป็นร้อยละ 86.12 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตก รวม 51 จังหวัด ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 84.25 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 46 แห่ง เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 20 แห่ง และขนาดกลาง 26 แห่ง สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 165.31 ล้านลูกบาศก์เมตร
อย่างไรก็ตาม พี่น้องประชาชนสามารถขอรับบริการฝนหลวง ติดตามข้อมูลข่าวสาร การรายงานแผนและผลการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นประจำทุกวันของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทางเพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ช่อง Youtube ใต้ปีกฝนหลวง Instagram Twitter Line Official Account @drraa หรือโทรศัพท์หมายเลข 02-1095100
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าวมวลชนไทยนิวส์ข่าวออนไลน์-0628929797