ใครจะคิดว่าโลกจะเดินทางมาถึงวันที่ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เพราะโรคระบาด COVID -19 ที่ยังไม่มียาขนานใดมายับยั้งได้ วันนี้เราจึงทำได้แต่เพียงร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดไปมากกว่านี้ “ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจแรงดันบวกและแรงดันลบ” อีกหนึ่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ช่วยบุคลากรการแพทย์ลดความเสี่ยงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้มีความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น
ด้วยลักษณะงานของฝ่ายโรงงานและอะไหล่ กฟผ. ที่มีทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์งานช่างนานาชนิด รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานที่มีความชำนาญด้านการซ่อมและบำรุงรักษา เมื่อได้รับการประสานงานให้ออกแบบและผลิตตู้เก็บสิ่งส่งตรวจแรงดันบวกและแรงดันลบ ภารกิจของช่างซ่อมอุปกรณ์โรงไฟฟ้าจึงแปรเปลี่ยนไป ภายใต้คำแนะนำของ นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และฝ่ายแพทย์และอนามัย กฟผ. เพื่อให้ได้ตู้ที่บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้งานได้สะดวก มีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยระหว่างการตรวจโรคมากที่สุด
ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจแรงดันบวกและแรงดันลบ ที่ กฟผ. พัฒนาขึ้น มีลักษณะสี่เหลี่ยมทรงสูง ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และสูง 2 เมตร ผลิตจากแผ่นอะคริลิกใส หนา 6 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดและความหนาที่ศึกษาแล้วว่ามีความแข็งแรงต่อการใช้งาน สะดวก สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ภายในตู้มีช่องถุงมือปิดซีลอย่างมิดชิดเพื่อใช้เก็บสารคัดหลั่งของผู้ป่วย สำหรับการใช้งานตู้เก็บสิ่งส่งตรวจแรงดันบวก บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ภายในตู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยแพร่กระจายเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนตู้เก็บสิ่งส่งตรวจแรงดันลบ บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้านนอกและผู้ป่วยอยู่ภายในตู้ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยไม่ให้แพร่กระจายออกมาในอากาศได้โดยตรง แต่จะมีระบบกรองอากาศและฆ่าเชื้อก่อนการปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก ทำให้ตู้เก็บสิ่งส่งตรวจแรงดันลบมีความปลอดภัยมากกว่า สามารถสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี
ประเสริฐ สุวรรณสิทธิ์ -บก.ข่าว
นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -ถ่ายภาพ
นิราภรณ์ รัตน์ทิพย์ -รายงาน
ขอบคุณข้อมูลมาจาก/https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=3465:20200420-art01&catid=49&Itemid=251
ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าวมวลชนไทยนิวส์ข่าวออนไลน์-0628929797