สำหรับภาคธุรกิจหรือผู้ที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับการใช้เงินตราต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อผลกำไรหรือขาดทุนที่จะเกิดขึ้น แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19ในบางประเทศจะเริ่มผ่อนคลายเนื่องจากมีความคืบหน้าในการจัดหาและกระจายวัคซีนแต่ปัญหาสำคัญที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้ คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความผันผวนของค่าเงินที่พร้อมผันแปรตามปัจจัยทั่วโลก ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) จึงได้ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกรุงไทยจัดสัมมนาพิเศษเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย USD Futures รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มที่หัวข้อแรก“วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลก : เตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนของค่าเงิน”

ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย ให้มุมมองว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นแม้มีการระบาดโควิด-19 รอบ 2 แต่ภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี โดยอัตราติดเชื้อทั่วโลกลดลง ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนหลายประเทศทั่วโลกมีการขยายตัวเศรษฐกิจดีขึ้น รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV ที่จีดีพีกลับมาเป็นบวกในเดือน ก.พ. ขณะที่ไทยเริ่มคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือน ก.พ.และตัวเลข ธปท. พบว่าเกือบทุกอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นเรื่องการท่องเที่ยว
หนึ่งในปัจจัยที่ต้องจับตาคือการปรับตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของสหรัฐฯ (Bond Yield) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น รวมถึงต้องดูว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเป็นอย่างไร เพราะจะมีผลต่อความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกต้องหาเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยง
“สุโชติ เปี่ยมชล” ผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่า การป้องกันความเสี่ยงค่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความผันผวนในตลาดการเงินโลกมีแต่จะมากขึ้น แม้อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนไม่สามารถควบคุมได้ แต่ความเสี่ยงดังกล่าวสามารถบริหารจัดการได้ ปัจจุบันผู้ประกอบการบริหารค่าเงิน 30% ขณะที่ SME ทำเพียง 10-15% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นระดับที่อันตราย สำหรับข้อดีของการบริหารความเสี่ยงค่าเงินนั้น ถือเป็นการล็อคต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า ทำให้มุ่งดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่และรายได้มีเสถียรภาพไม่เหวี่ยงมากเกินไป
ปัจจุบันมี 6 วิธีบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน คือ 1) Forwardเป็นการทำสัญญากับสถาบันการเงินว่าจะซื้อขายเงินตราต่างประเทศไว้ล่วงหน้าแบบไม่ต้องรอลุ้น ซึ่งถ้ามีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วก็จะได้รับวงเงินการทำ Forward โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ SME จะเข้าถึงยาก 2) FX Futuresเป็นการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเหมาะสำหรับ SME ที่ไม่ได้มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารโดย Futures คล้ายกับForward เพียงแต่ไม่ต้องมีวงเงินกับธนาคาร แต่มีเงื่อนไขในการวางหลักประกัน (Margin) 3) FX Optionเป็นการทำประกันค่าเงิน ซึ่งช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ดี แต่ค่าพรีเมี่ยมในการใช้บริการสูง4) การเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) 5) การหักกลบรายได้รายจ่ายสกุลเงินต่างประเทศ (Netting & Matching) และ 6) การใช้เงินสกุลท้องถิ่น
สำหรับหัวข้อที่ 2“บริหารความเสี่ยงค่าเงินอย่างมั่นใจด้วย USD Futures และบริหารแลกดอลล่าร์รายวันผ่านเทคโนโลยี Blockchain (JEDI)”
ดร.จักรพันธ์ ติระศิริชัย ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์-อนุพันธ์ บมจ. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX กล่าวว่า USD Futures ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก หรือผู้ที่มีการลงทุนในต่างประเทศให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือได้ง่าย แค่เพียงมีบัญชีซื้อขาย TFEX ซึ่งสะดวกกับผู้ประกอบการรายย่อยเพราะไม่ต้องไปพึ่งวงเงินกับธนาคาร และไม่จำเป็นต้องใช้วงเงินเป็นจำนวนที่มาก เพียงแค่วางเงินประกันสัญญาละไม่เกิน 500 บาท ก็สามารถใช้บริหารความเสี่ยงได้เลย ซึ่ง USD Futures 1 สัญญาเทียบเท่ากับการซื้อขาย 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
“USD Futures สามารถนำมาใช้บริหารค่าเงินได้ทั้ง 2 ขา ไม่ว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น หรืออ่อนค่าลง เช่น กรณีผู้นำเข้ากังวลว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเมื่อถึงกำหนดต้องจ่ายเงินในอนาคต ควรเปิดสถานะซื้อ (Long) USD Futures เท่ากับล็อคค่าเงินดอลลาร์ไว้ตั้งแต่แรก ขณะที่ผู้ส่งออกที่มีแผนจะรับเงินดอลลาร์ในอนาคต ก็ควรเปิดสถานะขาย (Short) USD Futures เท่ากับล็อคค่าเงินดอลลาร์ไว้ล่วงหน้า หรือกรณีผู้ที่เอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ เช่น ซื้อกองทุนรวมต่างประเทศ (FIF)การไป Short หรือขาย USD Futures เอาไว้ ก็จะทำให้มีกำไรจาก USD Futures มาชดเชยกับขาดทุนเมื่อขายกองทุนกลับมาได้ พูดง่ายๆ ว่าการใช้ USD Futures สามารถช่วยล็อครายได้หรือค่าใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้”
ล่าสุด TFEX ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาบริการแลกดอลลาร์รายวัน สำหรับผู้ซื้อขายUSD Futures โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก หรือผู้ที่ลงทุนต่างประเทศสามารถใช้งานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“วรงค์ วงศ์สินอุดม” ผู้อำนวยการ ฝ่าย Product Solutions and Markets Innovation ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่าสิ่งที่กรุงไทยทำคือ การพัฒนาและต่อยอดการบริการ USD Futures ให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยแก้ข้อจำกัด (Pain point)ที่ผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออก ไม่สามารถนำเงินไปจ่ายให้ซัพพลายเออร์ได้เพราะเงินอยู่ใน USDFutures ด้วยการบริการแลกดอลลาร์รายวัน Joint-Exchange Development Initiation (JEDI)
“JEDI เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมระบบของ TFEX และกรุงไทยเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการดำเนินงานธุรกรรมออนไลน์และยืนยันตัวตน ซึ่งทำให้เกิดความปลอดภัยและใช้งานได้สะดวก ที่สำคัญทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของกรุงไทยลดลง จึงส่งผลให้สามารถคิดอัตราแลกเปลี่ยนในอัตราพิเศษกับลูกค้าได้ จากเดิมที่อาจต้องรอให้เกิดวอลุ่มการทำธุรกรรมที่เยอะก่อนถึงจะได้อัตราพิเศษ แต่นี่เพียงมีสถานะUSD Futures 1 สัญญาก็สามารถได้เรทพิเศษแล้ว”
สำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุนที่สนใจซื้อขาย USD Futures สามารถติดต่อโบรกเกอร์ TFEX หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.TFEX.co.thโทร. 0-2009-9999 หรือผู้สนใจใช้บริการแลกเงินดอลลาร์รายวันสอบถามรายละเอียดได้ที่ Krungthai Corporate FX Sales 0-2208-4646