นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาประชุมมอบนโยบาย “พลังงานสร้างไทย” ณ ห้องประชุม 9 ชั้น15 อาคารเอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงให้การต้อนรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้แจงว่า “การประชุมดังกล่าวเป็นการเตรียมแผนงานด้านพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพและสร้างรายได้ให้กับประชาชนหลังสถานการณ์เชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยมีสาระสำคัญที่จะดำเนินการ 3 ด้านในช่วงปี 2563-2565 คือ
1. ลดรายจ่ายแก่ประชาชนช่วงโควิด-19 รวมกว่า 40,500 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาและดำเนินการต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ผ่านมาตรการช่วยเหลือสำคัญ เช่น ลดค่าไฟฟ้าครัวเรือนและภาคธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากการนำเข้า Spot LNG การยกเว้นเก็บอัตราค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (Minimum charge) ถึง กันยายน 2563 การตรึงราคาแก๊สหุงต้มถึง กันยายน 2563 และจะพิจารณาขยายไปถึงธันวาคม 2563 การช่วยเหลือส่วนต่างราคา NGV สำหรับรถสาธารณะ โดย ปตท. ช่วยเหลือส่วนต่างราคาจนถึง กรกฎาคม 2563 การจัดโครงการพลังงานร่วมใจสู้ภัย
โควิด-19 แจกแอลกอฮอล์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านลิตร การลดเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันลง 50 สต.ต่อลิตร และลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สต.ต่อลิตร
2. เร่งรัดการลงทุนด้านพลังงาน รวมกว่า 200,000 ล้านบาท ในปี 2563 สร้างการจ้างงานกว่า 10,000 คน โดยในปี 2563 จะมีการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ เริ่มดำเนินการ LNG Hub เริ่มการลงทุนพัฒนา Grid Modernization และศึกษาความเป็นไปได้ของ Grid Connectivity กับประเทศเพื่อนบ้าน การรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม และเร่ง LNG receiving Terminal
3. กระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูหลังโควิด-19 รวมกว่า 30,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ชุมชน เกิดการจ้างงานกว่า 8,000 คน ซึ่งต่อจากนี้ กฟผ. จะกระตุ้นให้เกิดการค้าผ่านตลาดนัดออนไลน์ชุมชนโรงไฟฟ้าและท่องเที่ยวเขื่อนทั่วไทย และ ปตท. จะจัด Living Community Market Place และเที่ยวทั่วทิศกระตุ้นเศรษฐกิจกับ Blue card พร้อมทั้ง กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีแผนที่จะขยายสายส่งไฟฟ้าเพื่อผันแม่น้ำยวมสู่อ่างเก็บน้ำภูมิพลเพื่อชลประทาน และยังช่วยลดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ด้วย รวมไปถึงการพิจารณาหาแนวทางการนำไฟฟ้าส่วนเกินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
“ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เกิดการลงทุนและสร้างรายได้กว่า 2000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานกว่า 10,000 คน เมื่อครบเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ การใช้ระบบ Blockchain เข้ามาช่วยในการซื้อขายปาล์มภาคพลังงานทั้งระบบ จะเกิดการหมุนเวียนรายได้กว่า 14,000 ล้านบาท และการลงทุนเพื่อช่วยประกอบการ Start up โดย ปตท. สนับสนุนทุนไปแล้วกว่า 17 ราย และ กฟผ. จะมี Innovation Holding Company เข้ามาช่วยสนับสนุนการพัฒนาไฟฟ้าในยุค Disruptive technology นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น เพื่อผลักดันการพัฒนา E-Transportation ให้ครบวงจร ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยจะเร่งเดินหน้าตามแผนงานดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เดินหน้าอย่างเข้มแข็งต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว