วันเสาร์, 20 เมษายน 2567

จังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ

จังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และกิจกรรมปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามพระดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และสุขภาวะวิถีพุทธ มหาวิยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น ต.โคกสี อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมตามโครงการรวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และกิจกรรมปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามพระดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยมีท่านเจ้าคุณพระโสภณพัฒนบัณฑิต รองอธิการบดี มจร.วิทยาเขตขอนแก่น ส่วนราชการจังหวัด นายอำเภอเมืองขอนแก่น หัวหน้ากลุ่มงาน/หัวหน้าฝ่าย คณาจารย์/บุคลากร มจร. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำกลุ่มสตรีอาสาพัฒนา ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้อย่างพร้อมเพรียง
โอกาสนี้ นายธีระเชษฐ สอนปะละ พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวรายงานถึงความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อแสดงพลังสตรีในการน้อมนำพระราชดำรัส “…สืบสาน รักษาและต่อยอด..” สู่การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ อีกทั้งยังเป็นการสานพลังภาคีการพัฒนาสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามหลัก “บวร” มีภูมิคุ้มกันทางสังคม สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ พึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กิจกรรมสำคัญประกอบด้วย 1) การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ 2) การปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 3) การมอบพันธุ์กล้าไม้ ให้แก่ผู้แทนกลุ่ม องค์กร เครือข่าย และประชาชน 4) การขยายผลการปลูกผักสวนครัว : เติมน้ำ เติมบุญ จากวัดสู่ชุมชนตามหลัก “บวร” โดยได้รับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผักจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานเมล็ดพันธุ์ผัก ซึ่งผลิตจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ให้แก่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดขอนแก่น 5) การปลูกผักสวนครัว ตามโครงการขอนแก่นมีรัก ปลูกผักกินเอง เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจนตามโครงการ “คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย” แก้จนคนขอนแก่น และ 6) การปล่อยพันธุ์ปลา ตามโครงการจัดทำธนาคารอาหารชุมชน (Food Bank) ของจังหวัดขอนแก่น
ผลจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการสร้างกระแสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมบนพื้นฐานตามหลัก “บวร” ที่เคยดำเนินมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน อันจะก่อให้เกิดพลังแห่งความรัก ความสามัคคี ความเอื้ออาทรของประชาชนในที่สุด