วันอังคาร, 10 กันยายน 2567

เรือนจำกลางขอนแก่น จัดพิธีปิดการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 64/ ที่เรือนจำกลางขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีปิดการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง

ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน ให้มีการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง เรือนจำกลางขอนแก่น กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนองทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิดการฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เมื่อพ้นโทษออกไปภายนอก นั้น

ปัจจุบันการฝึกโครงการพระราชทานโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง เรือนจำกลางขอนแก่น กรมราชทัณฑ์ นี้ มีผู้เข้ารับการฝึกเป็นผู้ต้องขังที่เป็นคนไทย 236 คนและชาวต่างชาติ 2 คนรวมทั้งสิ้น 237 คน โดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 แบ่งการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การอบรมจึงตนด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย การออกแบบแนวความคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็กการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้านปั้นโคก ขุดหนองทำนา ตามภูมิสังคมลงบน การสร้างพื้นที่จำลอง และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพออยู่พอกินพอใช้และพอร่มเย็น และการปฏิบัติในพื้นที่จริงมีขนาด 1 งานหรือ 412 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้านปั้นโคก ขุดหนองทำนา ตามภูมิสังคม และขั้นที่ 3 การสรุปและประเมินผล

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เรือนจำกลางขอนแก่น สามารถพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้หลังจากนี้แล้วผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษในโอกาสต่อไป จะต้องไปดำเนินการในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสานรักษาต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ที่มา/ปชส.ขก.