วันศุกร์, 4 ตุลาคม 2567

‘ณัฏฐพล’แจงเปิดเรียนตามปกติ 1 ก.พ.ส่วน O-Net อาจเลื่อนเป็น มี.ค.

18 ม.ค. 2021
610

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่การกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาในช่วงสถานการณ์โควิด ว่า ในเรื่องการสอบเลื่อนระดับชั้น ยังไม่มีการสอบออนไลน์ แต่จะมีการยืดหยุ่นเรื่องการสอบ หรืออาจจะเป็นการผ่านระดับชั้นโดยที่ไม่มีการสอบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก และคาดว่าโรงเรียนจะสามารถเปิดการเรียนการสอนอีกครั้งได้ ภายในวันที่ 1 ก.พ. 2564 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่สถานการณ์ของแต่ละพื้นที่

ส่วนเรื่องการขอเลื่อนสอบ O-Net ของนักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้คะแนนในการยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษานั้น อยู่ในช่วงการปรึกษาหารืออยู่ว่าจะมีการปรับเนื้อหาในการสอบ และอาจจะเลื่อนสอบไป เดือน มี.ค. นี้ แต่การสอบ O-Net ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นการสอบตามความสมัครใจ

วันเดียวกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการจัดประชุมการบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษา ณ หอประชุมคุรุสภา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ  ได้ประกาศแผนบูรณาการการศึกษาทั่วประเทศเป็นนโยบายหลักในปี พ.ศ. 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พลิกการศึกษาของประเทศ ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงทั้งองค์กร อิงตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี โดยเน้นความสอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด

นายณัฏฐพล ได้เป็นประธานการประชุม กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่และศึกษาข้อมูลกว่า 1 ปีที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปัญหาในการบริหารจัดการการศึกษาให้มีคุณภาพอยู่มาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นการรื้อระบบ เพื่อสร้างคุณภาพใหม่ทั้งระบบ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับเด็กๆ โดยใช้ความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการศึกษาที่มีอยู่ทั้งหมดของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งแผนบูรณาการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน

โดยแผนการบูรณาการนี้เป็นการรวมพลังของทุกหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อวางแผนร่วมกันในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพในทุกจังหวัด อีกทั้งเพื่อเป็นการยกระดับทางการศึกษา สร้างโอกาส และเป้าหมายในระยะยาว คือยกระดับรายได้ของจังหวัดผ่านการศึกษา โดยการคำนึงถึงความต้องการของตลาด ความต้องการของประเทศของจังหวัด เพื่อเป็นการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในช่วงระยะเวลา 5 -10 ปีที่จะถึงนี้ให้มีคุณภาพ ทั้งนี้คือการจัดสรรงบประมาณให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่มีการเพิ่มงบประมาณแต่อย่างใด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลของการดำเนินงานครั้งนี้เด็กๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศจะไม่เพียงได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น แต่จะได้รับการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพจากการที่มีครูครบชั้น ครบวิชา ในแต่ละโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนที่สามารถจัดการทำกิจกรรมต่างๆ ทางด้านคุณครู เมื่อครูครบชั้นก็จะลดเวลา ลดภาระงาน และพุ่งเป้า หรือให้ความสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ได้มากขึ้น และสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องคิดและวางแผนต่อไป คือ การจัดการพื้นที่โรงเรียนบางส่วนในการพัฒนาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเรียนรู้เพิ่มเติมสำหรับเด็กๆ การสร้างชุมชน หรือหอพักสำหรับคุณครู โดยมุ่งหวังถึงการเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาทักษะๆ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนในชุมชนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดอีกด้วย

ทั้งนี้แผนบูรณาการการศึกษาดังกล่าว ได้มีการลงพื้นที่สำรวจและพัฒนาโดยการใช้พื้นที่ จังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ เนื่องจากภูเก็ตมีความโดดเด่นเรื่องของการท่องเที่ยวและบริการ โดยเฉลี่ยในแต่ละปีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่าร้อยละ18 เลือกเดินทาง สร้างรายได้กว่าร้อยละ 29 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งประเทศ ฉะนั้นแล้วแนวทางการพัฒนาการศึกษานอกจากจะมุ่งเน้นทางด้านวิชาการแล้ว และจะมีแนวคิดที่จะเสริมทักษะด้านภาษาที่ 2 และ 3 ให้กับนักเรียน นักศึกษา สร้างโรงเรียนฝึกอาชีพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

โดยแนวทางการพัฒนาโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ตนั้นได้วางเป็น 3 แนวทางหลัก คือ

แนวทางที่ 1 โรงเรียนคุณภาพชุมชนระดับประถมศึกษา

แนวทางที่ 2 โรงเรียนขนาดเล็กที่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ (Stand Alone)

แนวทางที่ 3 ยกระดับโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง

จากการศึกษาเบื้องต้นตามแผนพัฒนาโรงเรียนใน 3 รูปแบบส่งผลให้เงินงบประมาณสำหรับโรงเรียนในจังหวัดภูเก็ต สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในกรอบระยะเวลาสิ้นปี 2565 จะเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

โดยในการประชุมครั้งนี้ได้มอบหมายให้ตัวแทนจากทั้ง 77 จังหวัดได้ทำแผนพัฒนาในจังหวัดของตนเองเพื่อนำเสนอแนวทางพัฒนารวมถึงการพิจารณาวางแผนงบประมาณที่ต่อเนื่องต่อไป