วันอังคาร, 5 พฤศจิกายน 2567

จับกัง 1 วอนนายจ้างก่อนหยุดกิจการ หรือเลิกจ้างจับมือลูกจ้างเปิดใจ ใช้กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ฝ่าวิกฤต COVID-19 ร่วมกัน

รมว.แรงงาน วอนนายจ้าง-ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ ก่อนตัดสินใจหยุดกิจการหรือเลิกจ้าง ควรเปิดใจปรึกษาหารือร่วมกัน นำแนวปฏิบัติการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤตและมาตรการบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างมาปรับใช้ในสถานประกอบการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ระลอกใหม่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปในวงกว้างส่งผลกระทบต่อนายจ้าง สถานประกอบกิจการ และลูกจ้าง อาจเกิดวิกฤตด้านแรงงานที่รุนแรงได้ จนทำให้สถานประกอบกิจการบางแห่งจำเป็นต้องลดทุนการผลิต ลดชั่วโมงการทำงานของลูกจ้าง หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนชั่วคราวโดยใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลดพนักงาน หรือเลิกกิจการในท้ายสุด ซึ่งจะเกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความสงบสุขในวงการแรงงาน จึงขอวอนให้นายจ้าง – ลูกจ้างควรเปิดใจปรึกษาหารือร่วมกันก่อนหยุดกิจการตามมาตรา 75 หรือเลิกจ้าง โดยนำมาตรการและแนวปฏิบัติที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พยายามมุ่งส่งเสริมให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน นั่นคือ แนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ และมาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง
          นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ นายจ้างควรนำแนวปฏิบัติว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติมาปรับใช้ในสถานประกอบกิจการก่อน โดยมีสาระสำคัญ อาทิ นายจ้างควรเปิดเผยผลประกอบการตามสภาพความเป็นจริงแก่ฝ่ายลูกจ้าง และนายจ้างลูกจ้างหารือร่วมกันในการประหยัดค่าใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการชุมนุมเผชิญหน้าด้วยความรุนแรง หากดำเนินการแล้วสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จึงค่อยใช้มาตรการหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว หรือทั้งหมด ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แต่ขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย   โดยจะต้องแจ้งพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่และลูกจ้างทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนเริ่มวันหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน และหากจำเป็นต้องเลิกจ้างให้นำมาตรการและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างมาปรับใช้ ซึ่งมี 3 มาตรการ ดังนี้ มาตรการลดค่าใช้จ่าย มาตรการปรับปรุงการบริหารงานบุคคลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และมาตรการลดจำนวนลูกจ้าง โดยขอให้การเลิกจ้างเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ ทั้งนี้ หากนายจ้างตกลงกับลูกจ้างในการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เช่น ลดวันทำงาน ลดค่าจ้าง ก็สามารถทำได้แต่จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย การผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือ และเสียสละของนายจ้างลูกจ้างพูดคุยกันด้วยหลักสุจริตใจ และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3