วันศุกร์, 11 ตุลาคม 2567

นายกรัฐมนตรีเผยวัคซีนลอตแรก 2 ล้านโดส

นายกรัฐมนตรีเผยวัคซีนลอตแรก 2 ล้านโดส สำหรับผู้ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย พร้อมเตรียมแผนจัดหาวัคซีนให้เพียงพอแก่ประชาชนทั้งประเทศวันนี้ (5 ม.ค. 64) เวลา 12.00 น. ณ โถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุขรองรับวัคซีนที่จะเข้ามาในระยะแรกจำนวน 2 ล้านโดส แบ่งเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคม จำนวน 8 หมื่นโดส สำหรับประชาชน 4 แสนคน เดือนเมษายน จำนวน 1 ล้านโดส สำหรับประชาชน 5 แสนคน และปลายเดือนพฤษภาคม อีก 26 ล้านโดส สำหรับประชาชน 13 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านมาตรฐานจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้ติดตามการฉีดวัคซีนในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยปลอดภัยให้มากที่สุด



นายกรัฐมนตรีเผยว่าได้มีการสั่งจองวัคซีนจากแอสตราเซเนก้า (AstraZeneca) เพิ่มอีกจำนวน 35 ล้านโดส ซึ่งจะต้องฉีดคนละ 2 โดส ห่างกันระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยจัดลำดับการฉีดวัคซีนตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กลุ่มที่สำคัญที่สุด คือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสโควิด-19  ผู้ปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองโรค ปฏิบัติงานด้านหน้า บุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีอาการป่วยเรื้อรังซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงสูงเมื่อป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และอื่น ๆ ตามความจำเป็น สำหรับวัคซีนลอตต่อไป อาจมีการติดต่อหารือเพื่อแสวงหาวัคซีนจากประเทศอื่น ๆ เพื่อความรวดเร็วตามความต้องการ

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชานุญาตให้สามารถผลิตวัคซีนได้ ซึ่งคาดว่าจะผลิตได้ปีละ 200 ล้านโดส และน่าจะเพียงพอต่อการแจกจ่ายวัคซีนให้แก่ประชาชนทั่วประเทศ

รวมทั้งได้มีการอนุญาตให้ภาคเอกชน อาทิ โรงพยาบาลเอกชน สามารถจัดซื้อ จัดหาวัคซีนเองได้ แต่จะต้องผ่านมาตรฐานการรองรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมการใช้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีย้ำสิ่งที่สำคัญขณะนี้ คือ การจำกัดการแพร่ระบาดให้มากที่สุด  และการนำตัวผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาควบคุมรักษาพยาบาล ขณะที่วัคซีนใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ขณะที่ยาและเวชภัณฑ์มีเพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วยไว้อยู่แล้ว