วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

นายกฯ เป็นประธานประชุม กพช. ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับมิติด้านพลังงาน ไฟเขียวเพิ่มราคารับซื้อไฟโซลาร์บนหลังคา เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย เป้าหมาย 100 เมกะวัตต์

นายกฯ เป็นประธานประชุม กพช.ไฟเขียวเพิ่มราคารับซื้อไฟโซลาร์บนหลังคา เป็น 2.20 บาทต่อหน่วย เป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ จ่ายเข้าระบบปี 64 แบ่งเป็นซื้อไฟส่วนเกินจากกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 50 เมกะวัตต์ สถานศึกษา โรงพยาบาล น้ำเพื่อการเกษตร 50 เมกะวัตต์

(25 ธ.ค.63) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 (ครั้งที่ 152) โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้  

นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับมิติด้านพลังงาน โดยจะต้องร่วมกระบวนการรักษ์โลกสะอาด ทั้งในเรื่องพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทนในอนาคตให้ได้มากที่สุด โดยต้องเร่งพิจารณาดำเนินการโรงไฟฟ้าชุมชนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งในเรื่องพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และส่วนที่จะเกิดจากภาคการผลิต ซึ่งเรื่องพลังงานต้องปรับให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาประเทศด้านพลังงาน ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเรื่องการลดฝุ่น PM 2.5 ในอนาคต โดยการทำงานต้องมองในภาพรวม ไม่มองงานเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว และต้องทำงานร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ การทำงานด้านพลังงานทดแทน จะต้องปฏิบัติตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ และของโลก โดยต้องไม่เป็นภาระของประชาชน ให้คำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และรักษาเสถียรภาพให้ได้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในอนาคตจะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ทั้ง EEC SEC และ Smart City ดังนั้น การบริหารงานด้านพลังงานนอกจากการบริหารในภาพรวมแล้ว ควรมองแนวทางการบริหารเป็นรายภาค รายกลุ่มจังหวัด และจังหวัดด้วย เพราะแต่ละจังหวัดมีศักยภาพต่างกัน มีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับการประกอบอาชีพของประชาชนเป็นหลัก  

ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน       โดยแบ่งเป็นการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

1. ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย (โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน) ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาท/kWh* จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาท/kWh เป้าหมายการรับซื้อ 50 MWp** ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8 – 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย

2. ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาท/kWh แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 MWp กลุ่มโรงพยาบาล 20 MWp และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 MWp

หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 kWp แต่น้อยกว่า 200 kWp ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย

ในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานรับไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จำนวน 100 MWp จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท

* kWh: หมายถึง หน่วยที่ใช้บอกขนาด หรือปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย เท่ากับ 1กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kilo watthour = กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ใช้งานนาน 1ชั่วโมง)
** MWp: หมายถึง เมกะวัตต์สูงสุดของแผงโฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Panel) ณ สภาวะทดสอบมาตรฐาน (Standard Test Condition)