เมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2563 เวลา 14.00 น. ณ ห้องสิริคุณากร 3 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีพิธีแถลงข่าวการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 มี รศ.เพียรศักดิ์ ภักดี รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์, ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ,รศ.ดร.สิรภัทร์ เชี่ยวชาญวัฒนา ฝ่ายอำนวยการ ร่วมในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
ผศ.ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เปิดเผยถึงรายละเอียดของการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ระดับชาติ ครั้งที่ 16 ว่า มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มอบหมายให้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเจ้าภาพจัดการ“การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 16 (The Sixteenth Thailand Olympiad in Informatics 2020)” ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2563 ณ อาคารวิทยวิภาส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วัตถุประสงค์ของการแข่งขันมีดังนี้(1) เพื่อยกระดับ และกระตุ้นให้มีให้มีการพัฒนาหลักสูตร และมาตรฐานของระบบการเรียนการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ของประเทศ ให้ทัดเทียบนานาประเทศ (2) เพื่อทำให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันเกิดความรักและสนใจที่จะมุ่งเน้นศึกษาทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในระดับอุดมศึกษา จนอาจประกอบอาชีพทางคอมพิวเตอร์ในอนาคต(3) เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่เข้าอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ที่เป็นตัวแทนจากศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ ให้เป็นตัวแทนเข้าร่วมการอบรมค่ายโอลิมปิกวิชาการ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในรอบต่อไป (4) เพื่อให้คณาจารย์จากศูนย์ สอวน. ทุกศูนย์มีประสบการณ์ร่วมกันในการเข้าร่วมจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการสอน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการอบรมทางวิชาการในสาขาคอมพิวเตอร์ให้ดียิ่งขึ้น (5) เพื่อสร้างโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดของนักเรียน ตัวแทนครูจากโรงเรียน และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ
ในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ 16 นี้ มีนักเรียนที่เข้าร่วมในการแข่งขัน ทั้งสิ้น 93 คน โดยเป็นนักเรียนตัวแทนศูนย์ที่ผ่านค่ายที่สองจากศูนย์ สอวน ทั่วประเทศทั้ง 13 ศูนย์ จำนวน 90คน และนักเรียนจากโครงการสสวท. จำนวน 3 คน อาจารย์ผู้แทนศูนย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศและครูสังเกตการณ์จากศูนย์ สอวน. จำนวน 51 คน คณะกรรมการฝ่ายวิชาการ และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ และแขกผู้มีเกียรติจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพิ้นฐาน(สพฐ.)และหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุน รวมผู้เข้ากิจกรรมทั้งสิ้นประมาณ 300 คน
พิธีเปิดการแข่งขันจัดขึ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกูล ให้เกียรติกล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและผู้เข้าร่วมการแข่งขัน และ รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติของมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งนี้ โดยถือเป็นเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีโอกาสส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางการศึกษาโดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้านดิจิทัลที่มีการพัฒนาไปอย่างมากในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนากำลังคนในสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่นเองก็ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางและการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสูง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงคำนวณ(Computational Thinking) ด้วยการโปรแกรม (Programming) ซึ่งจะเป็นฐานความรู้ที่สำคัญสำหรับนักเรียนในการต่อยอดไปสู่การพัฒนาและวิจัยทางด้านการคิดคำนวณขั้นสูง การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาซอฟต์แวร์และนวัตกรรมด้านดิจิทัลให้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศต่อไปโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ ศรีจารนัยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะประธานกรรมการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกฯ ได้กล่าวต้อนรับนักเรียนตัวแทนศูนย์ สอวน. ทั้ง 13 ศูนย์ คณาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านเข้าร่วมทำการแข่งขันและกล่าวรายละเอียดการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตาม สอวน.และรองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการแข่งขันและให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขัน และเริ่มดำเนินกิจกรรมการแข่งขันต่อไป
กิจกรรมการแข่งขันที่สำคัญ แบ่งออกเป็นกิจกรรมของคณาจารย์และกิจกรรมของนักเรียน กิจกรรมของคณาจารย์ ประกอบด้วย การพิจารณาข้อสอบ การพิจารณาผลสอบ การตัดสินผล และการให้รางวัล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับดีเยี่ยม ระดับดีมาก และระดับดี ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดเป็นแนวทางเดียวกันกับที่ปฏิบัติกันในการสอบแข่งขันระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทัศนศึกษา ส่วนกิจกรรมของนักเรียนประกอบด้วย การสอบ 2 วัน วันละ 3 ชั่วโมง การทำกิจกรรมนันทนาการ และกิจกรรมทัศนศึกษา การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดังมีรายนามต่อไปนี้ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงแรมอวานีขอนแก่น โฮเทลแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยดาต้าโฮลติ้งจำกัด (Thai data hosting) บริษัทมีจีเนียสจำกัดบริษัทพีทีโอเอเซ็นเตอร์จำกัดบริษัทแลคตาซอยจำกัด