วันพุธ, 18 กันยายน 2567

จับตาเงื่อนไข!!รถเก่าแลกรถใหม่ คุ้มค่าไหม? ถ้าใช้สิทธิตามมาตรการ

ล่าสุด คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หรือ ศบศ. เห็นชอบหลักการที่จะนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและบริหารจัดการซากยานยนต์ในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะกำหนดรถยนต์ที่ร่วมโครงการ 100,000 คันด้วยกัน ภายใต้ชื่อโครงการ “รถแลกแจกแถม” 

       สำหรับเงื่อนไข และข้อเสนอคร่าวๆ ที่ภาครัฐหารือร่วมกับเอกชน เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ  คาดว่า จะมีรายละเอียด ดังนี้

  •  ฝ่ายรัฐต้องก่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้เกิดกิจการจัดการซากรถเก่า
  • ขอให้เอกชนค่ายรถยนต์ สนับสนุนส่วนลด 2% และอุดหนุนค่ากำจัดซาก 1% ของราคาขายรถใหม่
  • ค่าใช้จ่ายจากการซื้อ xEV (HEV PHEV และ BEV) สามารถนำไปหักภาษีเงินได้ส่วนบุคคล (PIT) โดยรัฐบาลสามารถหักลดหย่อนได้คิดเป็นเงินส่วนลด 3% ของราคาขายรถใหม่ สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท อยู่ระหว่างการหารืออัตรา กับกระทรวงการคลัง
  • กระทรวงคมนาคม ต้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก เพื่อยกเลิกทะเบียนรถเก่า
  • รถที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 10-12 ปี จึงจะสามารถเข้าสู่เงื่อนไข “รถแลกแจกแถม” ได้

ทั้งนี้ กรมขนส่งทางบก ได้รายงานสถิติจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ปี พ.ศ. 2563 ทั่วประเทศ พบว่า

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มีจำนวน 479,397 คัน
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน จำนวน 24,521 คัน
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล Van & Pick Up จำนวน 191,721 คัน

        ซึ่งผู้ครอบครองรถยนต์ ที่จะเข้าเงื่อนไข คาดว่าเป็นรถที่จดทะเบียน ในปี 2551-2553 ซึ่งได้จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก โดยในประเทศไทยมีรถเก่า อายุ 10 ปี 13.8 ล้านคัน  ,อายุเกิน 16 ปี  7.1 ล้านคัน และอายุ 20 ปี 4.3 ล้านคัน  ที่ล้วนแต่เป็นรถที่เป็นสาเหตุของการเกิด PM 2.5 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับเงื่อนไขของโครงการ  โดยนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเงื่อนไขโครงการว่าจะมีวิธีการแลกแบบไหน ลดเท่าไร ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะประชุมพิจารณาอีกครั้ง ที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนเสนอหลายเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ประชาชนนำรถเก่ามาแลกรถใหม่เข้ามาหลายทาง เช่น ประชาชนที่นำรถเก่ามากำจัด จะได้รับส่วนลดภาษีไม่เกิน 100,000 บาท, ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ สนับสนุนคูปองส่วนลดในการซื้อรถยนต์ใหม่   โดยกระทรวงคมนาคมต้องเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกเพื่อยกเลิกทะเบียนรถเก่า และฝ่ายรัฐต้องก่อสร้างสภาพแวดล้อม ที่สนับสนุนให้เกิดกิจการจัดการซากรถเก่า ลดฝุ่น PM 2.5 และนำเศษซากมาสร้างประโยชน์ใหม่ด้วย

          ด้านผู้บริหารค่ายรถยนต์ซูซูกิ ระบุว่า การนำรถเก่าแลกรถใหม่มีความเป็นไปได้  แต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะราคารถไฮบริดเริ่มต้นในไทย อยู่ที่ 1,000,000 บาท ผ่อนเริ่มต้น 13,000-15,000 บาท ระยะเวลาผ่อน 72 เดือน หรือ 6 ปี ซึ่งหากดูพฤติกรรมของผู้ซื้อรถในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ จะเน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางถึงบน แต่กลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะเปลี่ยนรถในช่วงเวลา 4-5 ปี อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ไฮบบริดยังมีราคาแพง และยังจับต้องได้ยาก

หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า หลายคนอาจจะต้องดูกันหลายอย่าง  เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา ทำให้มีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะระยะเวลาในการใช้งาน ระยะเวลาการชาร์จไฟ สถานีชาร์จไฟที่ยังน้อย  และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องราคา ปัจจัยที่มนุษย์รายได้ปานกลางพิจารณาเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ คาดว่าจะตกผลึกกันจริงๆ ภายในเดือนธ.ค.นี้