วันพฤหัสบดี, 10 ตุลาคม 2567

นักวิจัย มข.พบ “บึ้งประกายสายฟ้า” ชนิดใหม่ของโลก

24 ก.ย. 2023
362

อ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำทีมนักวิจัย ลงพื้นที่สำรวจพบ “บึ้งประกายสายฟ้า” ชนิดใหม่ของโลก สวยระดับอัญมณีแห่งป่า  ทั้งยังเป็นบึ้งชนิดแรกของไทยที่พบในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน

วันพุธที่ 20 กันยายน 2566 ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยของ อ.ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายชวลิต ส่งแสงโชติ นายปฏิภาณ ศรีรานันท์ และนายปวีณ ปิยะตระกูลชัย ร่วมกับ โจโฉ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง ลงพื้นที่สำรวจและศึกษาวิจัยนำมาสู่การค้นพบบึ้งที่สวยและดึงดูดความสนใจชนิดใหม่ของโลก คือ “บึ้งประกายสายฟ้า” 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 𝒏𝒂𝒕𝒂𝒏𝒊𝒄𝒉𝒂𝒓𝒖𝒎

ดร.นรินทร์ กล่าวว่า จากการศึกษาและสำรวจทีมวิจัยที่ จ.พังงา ในพื้นที่ป่าชายเลนไปจนถึงป่าไม้ผลัดใบในพื้นที่เนินเขา ส่งผลให้ทีมวิจัยค้นพบ “บึ้งประกายสายฟ้า”  ซึ่งถือได้ว่าเป็นบึ้งชนิดแรกของไทยที่พบในบริเวณที่เป็นป่าชายเลน โดยบึ้งชนิดนี้จัดอยู่ในสกุล 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 ในวงศ์ย่อย Selenocosminae

“ความยากของการสำรวจบึ้งตัวนี้ คือ การอาศัยอยู่บนต้นไม้สูงในป่าชายเลน ทั้งยังอยู่ในโพรงต้นไม้ลึกและซับซ้อน ทำให้จับลำบากมาก วันที่สำรวจเราพบตัวอย่างเพียง 2 ตัวเท่านั้น หลังจากนั้นจึงไปพบเพิ่มเติมในพื้นป่าที่สูงขึ้นและพบว่ามันอาศัยได้ทั้งในดินและบนต้นไม้”

สำหรับที่มาของชื่อ “บึ้งประกายสายฟ้า” มาจากชื่อทั่วไปภาษาอังกฤษว่า Electric-blue tarantula”   ซึ่งเป็นลักษณะสีของบึ้งที่เมื่อสะท้อนกับแสงไฟแล้วมีประกายสีน้ำเงินคล้ายกับสีของ สายฟ้าสีน้ำเงิน                          ซึ่งตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วสีน้ำเงินนับเป็นสีที่หายากในธรรมชาติ อันเนื่องมาจากสีน้ำเงินเป็นสีที่มีพลังงานสูง แต่ความลับของ “บึ้งประกายสายฟ้า” คือ สีน้ำเงินที่เป็นประกายงดงามสลับกันบริเวณขาเกิดจากโครงสร้างระดับนาโนของเส้นขนบึ้ง ซึ่งมาจากการหักเหของแสงทำให้แสงสะท้อนพลังงานที่ในช่วงความถี่              ของแสงสีน้ำเงิน โดยไม่ได้เกิดจากกลไกที่รงควัตถุดูดซับพลังงานเหมือนกับการเกิดสีของพืชหรือสัตว์                   ในธรรมชาติโดยทั่วไป

ไม่เพียงเท่านั้น “บึ้งประกายสายฟ้า” ยังปรากฏสีม่วงในบางส่วนของร่างกายด้วย ซึ่งสีม่วงเป็นสีที่มีพลังงานมากกว่าสีน้ำเงินและมีช่วงในสเปกตรัมแสงที่แคบมาก นับเป็นสีที่พบได้ยากที่สุดในสิ่งมีชีวิต

ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ของบึ้งชนิดนี้ได้ตั้งชื่อว่า 𝑪𝒉𝒊𝒍𝒐𝒃𝒓𝒂𝒄𝒉𝒚𝒔 𝒏𝒂𝒕𝒂𝒏𝒊𝒄𝒉𝒂𝒓𝒖𝒎  เพื่อเป็นเกียรติกับ คุณณฐกร แจ้งเร็ว และคุณนิชดา แจ้งเร็ว ผู้บริหารกลุ่มบริษัทนิชดาธานี ซึ่งเป็นผู้ประมูล เพื่อนำรายได้ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายในการสมทบทุนบริจาคช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนทางการศึกษาบนดอยในโรงเรียนบ้านมูเซอและผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่ยากไร้

“บึ้งชนิดนี้นอกจากเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์แล้วยังช่วยต่อลมหายใจของผู้คนและหยิบยื่นโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่ห่างไกลความเจริญอีกด้วย”

ทั้งนี้ “บึ้งประกายสายฟ้า” นั้น ถูกนำมาเลี้ยงในกลุ่มคนนิยมเลี้ยงบึ้งมาก่อนแล้ว โดยก่อนหน้านี้มีชื่อว่า Chilobrachys sp Electric-blue โดยยังไม่มีใครจัดจำแนกและบรรยายลักษณะ รวมถึงการสำรวจว่า                บึ้งชนิดนี้อาศัยอยู่ที่ไหน หรือใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบแล้วทำให้ได้รู้ว่าเป็นบึ้งชนิดใหม่ จึงได้มีการศึกษาวิจัยก่อนที่งานวิจัยจะถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566               ที่ผ่านมา (https://doi.org/10.3897/zookeys.1180.106278)

นอกจากนี้ ดร.นรินทร์ ยังระบุว่า บึ้งในสกุลนี้มีรายงานการพบในประเทศไทยเพียง 2 ชนิดเท่านั้น “บึ้งประกายสายฟ้า” ถือได้ว่าเป็นชนิดที่ 3 จากการค้นพบในไทยครั้งล่าสุดเมื่อ 27 ปีที่แล้ว แต่ชนิดที่พบในอดีตไม่ปรากฏความแวววาวของสีที่เป็นประกายเหมือนกับ “บึ้งประกายสายฟ้า” นับเป็นบึ้งที่มีความพิเศษลักษณะสวยงามและยังพบได้ในพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น จึงควรหาแนวทางอนุรักษ์พื้นที่ป่า ให้บึ้งที่พบในป่าชายเลนตัวแรกและตัวเดียวของประเทศไทยในตอนนี้ ยังคงอยู่เป็นอัญมณีแห่งผืนป่าต่อไปในอนาคต

ข่าว : ผานิต ฆาตนาค

ภาพ : ดร.นรินทร์ ชมภูพวง, ยุรนันท์ นานไธสง และทีมวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผู้สนับสนุนแพลตฟอร์มข่าว/สนใจลงโฆษณาติดต่อ นิตยา สุวรรณสิทธิ์ -0628929797 dWgJ6WZ.jpeg MAaG61.jpeg MB9x2v.jpeg Da2r0R.png DpkFp1.jpg banner1-08.gif Dp1Qd0.png 2wk8Dt.jpg 2wcwIv.jpg ลิงค์สำรองการฟังวิทยุออนไลน์ FM101.MHZ MEnXPR.gif


เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สำนักบริการวิชาการ เปิดบ้านต้อนรับ มจธ. หารือแนวทางการประเมินทักษะคนพิการที่เข้าร่วมโครงการฝีกอบรมเพื่อสร้างอาชีพฯ
“เตรียมพร้อมสู่โลกกว้าง ด้วยสุขภาพแข็งแรง คนพิการก็ทำได้” สำบริการวิชาการ จับมือ ศูนย์การดูแลผู้สูงอายุ รพ.ศรีนครินทร์ ร่วมส่งเสริมสุขภาพชีวิตคนพิการ
สำนักบริการวิชาการ มข. อบรมเข้มกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด เตรียมพร้อมเลือกตั้งสำหรับ อปท.
สำนักบริการวิชาการ มข. Up Skill ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ
สำนักบริการวิชาการ มข. Up Skill ผู้ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ จังหวัดบุรีรัมย์
คาราวาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขนทัพ นศ.และบุคลากรกว่า 300 ชีวิต มอบถุงยังชีพกว่า 2,000 ชุดลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จ.หนองคาย