“มข.”โร่!แจงข้อมูลเท็จกล่าวหาผู้บริหาร กรณีผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปาก
มหาวิทยาลัยขอนแก่นเคลียร์ข้อมูลเท็จกล่าวหาผู้บริหาร ย้ำสเปรย์ Andrographolide Nano-emulsion เป็นทรัพย์สินทางปัญญาโครงการ Start up ความร่วมมือระหว่าง มข.-มิส ลิลลี่ เท่านั้น
มหาวิทยาลัยขอนแก่นชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีที่เป็นข่าวถึงการที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบ พร้อมยืนยันสูตรและผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นปาก Andrographolide Nano-emulsion เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิเด็ดขาดของโครงการ Start up ในความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฯ และบริษัท มิส ลิลลี่ จำกัดเท่านั้น
สืบเนื่องจากกรณีที่ ผศ.ดร.กิติยาพร พงษ์ประเทศ ของคณะสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างธรรมา ภิบาล (กมธ.) รวมถึงให้สัมภาษณ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชน โดยกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้คิดค้นและผู้ประดิษฐ์ในสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์ Andrographolide Nano-emulsion ทั้งยังได้กล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ว่าประพฤติ มิชอบนั้น
ล่าสุด วันนี้(19เม.ย.) ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การร้องเรียน การกล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น และการให้สัมภาษณ์ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของบุคคลดังกล่าว ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด ขอยืนยันว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินงานโครงการ Start up ด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการดำเนินการด้านสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร พ.ศ.2562
การคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ Andrographolide Nano-emulsion ชนิดสเปรย์พ่นปาก เกิดจากนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ต้องการสร้างโครงการ Start up ให้ประสบความสำเร็จ โดยอาศัย Business Model และความเข้มแข็งด้านบริหารจัดการของภาคเอกชนร่วมกับองค์ความรู้ เครื่องมือและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยฯ โดยโครงการ Start up นี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด ในด้านการจัดจ้างจัดหานักวิจัยและเงินทุนเพื่อใช้ในงานคิดค้น ทดลองสูตร และพัฒนาสูตร รวมทั้งในด้านการตลาดเพื่อให้เกิดเป็น Business Model
“ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยหน้าที่ คำสั่ง การจ้าง การควบคุมดูแล และใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมิส ลิลลี่ จึงเป็นสิทธิร่วมกันของมหาวิทยาลัยฯ และบริษัทฯ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าด้วยการดำเนินการด้านสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร พ.ศ.2562 ข้อ 6. และข้อ 7. เท่านั้น”ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวและว่า
ดังนั้นอาจารย์ผู้ร้อง ซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างในโครงการ Start up และบุคลากรภายใต้บังคับบัญชาและกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยฯ ไม่มีสิทธินำสูตรดังกล่าวไปยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร การที่อาจารย์ผู้ร้องนำสูตรดังกล่าวไปยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร (เลขที่ 2103003314) ทำให้มหาวิทยาลัยฯ และบริษัทฯ ภายใต้โครงการ Start up ได้รับความเสียหาย ซึ่งโครงการ Start up กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายกับอาจารย์ผู้ร้องและผู้เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ สูตร Andrographolide Nano-emulsion ยังได้พัฒนาขึ้นโดยคณะทำงานของโครงการ Start up ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับคณะทำงานของมิส ลิลลี่ ที่ประกอบด้วยทีมนักวิจัยและทีม งานที่ปรึกษา รวมแล้วมากกว่า 10 คน โดยอาจารย์ผู้ร้องเป็นเพียงหนึ่งในทีมงานที่ปรึกษา ซึ่งไม่ใช่นักวิจัยของโครงการ Start up และไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์ตามกฎหมาย มหาวิทยาลัยฯ และมิส ลิลลี่ ขอยืนยันว่า โครงการ Start up ไม่เคยมีข้อตกลงใดๆ ทั้งเรื่องหุ้นส่วน และการให้สิทธิในสูตรหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำงานภายใต้โครงการ Start up กับอาจารย์ผู้ร้อง ทั้งยังไม่เคยแต่งตั้งหรือมอบหมายให้อาจารย์ผู้ร้องเป็นหัวหน้าโครงการตามที่อาจารย์ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ศ.ดร.มนต์ชัย ยังกล่าวต่อว่า สูตร Andrographolide Nano-emulsion ที่ใช้ผลิตเป็นสเปรย์พ่นปาก เป็นสูตรที่มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้มีความเหมาะสมกับการผลิตในระดับโรงงานอุตสาหกรรม มีการพัฒนาสูตร สัดส่วนองค์ประกอบ และได้สร้างเครื่องจักรเฉพาะทางในการผลิตสารให้มีขนาดอนุภาคในระดับนาโนเมตร ที่เหมาะกับการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทั้งยังมีการตรวจสอบในด้านความคงตัวและการประเมินอายุการเก็บรักษา โดยกระบวนการดังกล่าวตั้งแต่การคิดค้นและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทำโดยโครงการ Start up ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากผู้ร้องพ้นจากการเป็นที่ปรึกษาไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ดังนั้นอาจารย์ผู้ร้องจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทั้งสิ้น
สำหรับสาเหตุการเลิกจ้างอาจารย์ผู้ร้อง ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในทีมที่ปรึกษาในระยะเริ่มต้นของโครงการ Start up เกิดขึ้นจากปัญหาขัดแย้ง เนื่องจากอาจารย์ผู้ร้องต้องการนำสูตรของโครงการ Start up ไปจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร และอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะผู้คิดค้น ผู้ประดิษฐ์ แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งขัดแย้งกับโครงการ Start up จึงเป็นเหตุให้บริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด เลิกจ้างอาจารย์ผู้ร้อง และโครงการ Start up เห็นควรให้อาจารย์ผู้ร้องยุติบทบาทในโครงการ Start up
“ดังนั้นการที่อาจารย์ผู้ร้องยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต ประพฤติมิชอบ และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ให้สอบทุจริตผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงแต่อย่างใด และมหาวิทยาลัยฯ พร้อมนำหลักฐานเกี่ยวกับการว่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างให้แก่อาจารย์ผู้ร้อง และหลักฐานที่อาจารย์ผู้ร้องทำงานภายใต้โครงการ Start up ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท มิส ลิลลี่ จำกัด ในฐานะผู้ประสานงานเท่านั้น เข้าชี้แจงตามกระบวนการสอบสวนต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าการกล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัย ขอนแก่นว่าประพฤติมิชอบ ทำการละเมิดสิทธิทางปัญญาของผู้ร้อง ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก คำชี้แจงข้อเท็จจริง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีการแนบท้ายมา” ศ.ดร.มนต์ชัยกล่าวย้ำ