วันศุกร์, 11 ตุลาคม 2567

อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและวางแผนรับมือน้ำหลากภาคอีสาน

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63/ ที่ ห้องประชุมลำน้ำพอง สำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 และการติดตามการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5,6,7,8 และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและวางแผนรับมือน้ำหลากภาคอีสานที่จังหวัดขอนแก่น ว่า ในช่วงฤดูฝน กรมชลประทานได้วางแผนในการบริหารจัดการน้ำไว้ 2 แผน คือ
1.) แผนการจัดสรรน้ำและใช้น้ำจากเขื่อน แม้จะอยู่ในช่วงฤดูฝนซึ่งยังคงมีความจำเป็นใช้น้ำ เนื่องจากบางพื้นที่ยังคงมีฝนน้อย ฝนทิ้งช่วง ซึ่งต้องมีการใช้น้ำจากเขื่อน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งต้องมีการเก็บกักน้ำ สำรองไว้ใช้ควบคู่กันไปด้วย
2.) แผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ซึ่งต้องมีการกำหนดพื้นที่สุ่มเสี่ยง ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อเข้าไปตรวจสอบ เสถียรภาพของตัวเขื่อน ตรวจสอบสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ การคาดการณ์พื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยเพื่อนำมากำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ การจัดทำข้อมูลเพื่อวางแผนการจัดสรรทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งต้องมีการทบทวนและติดตามอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง รวมถึงระบบสารสนเทศ งบประมาณ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อกำหนดแผนการดำเนินการได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งมีการตั้งจุดพักคอยเพื่อกระจายเครื่องมือ และ อุปกรณ์ต่างๆ ใน 8 จุดทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่, พิษณุโลก ,ขอนแก่น ให้สามารถเข้าถึงพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่กำหนดไว้ไม่เกินภายใน 24 ชั่วโมง มีการประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน รวมทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดต่างๆโดยเฉพาะจุดเสี่ยงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ยโสธร เป็นต้น

นอกจากนี้ในฤดูน้ำหลากนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วม เป็นพิเศษ คือ พื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำ เช่นแม่น้ำชีทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจากในบางจุดพนังหรือคันกั้นน้ำที่มีอายุการใช้งานมานานและมีสภาพชำรุดเมื่อเกิดน้ำหลากจะเกิดปัญหาพนังหรือคันกั้นน้ำขาดชำรุดเสียหาย ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษทั้งสองฝั่งของแม่น้ำทั้งสายหลักสายรอง รวมถึงมีการวางแผนการระบายน้ำ และการกักเก็บน้ำในแก้มลิงต่างๆ ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ยังไม่น่าเป็นห่วง เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง

ที่มา/ปชส.ขอนแก่น