เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมแก่นเมือง (ชั้น 1) ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาข้าราชการคู่เสี่ยว ตามโครงการ “คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน ภาคเอกชน ร่วมเป็นเกียรติพิธีเปิดการสัมมนาฯ ในครั้งนี้
นายธีระเชษฐ สอนปะละ พัฒนาการจังหวัดขอนแก่น กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้ โครงการ “คู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น” โดยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงาน ทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน ควบคู่ไปกับการพัฒนาจังหวัดสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Khon Kaen Smart City ด้วยการใช้พลังการมีส่วนร่วมในรูปแบบประชารัฐ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมอบหมายให้ข้าราชการจากทุกหน่วยงาน “จับคู่เสี่ยว” รับผิดชอบ ดูแลครัวเรือนยากจน 1 คน รับผิดชอบครัวเรือนยากจน 2 ครัวเรือน และประสานความร่วมมือจากภาคเอกชน สถาบันการศึกษาให้การสนับสนุนทั้งด้านการประกอบอาชีพ การจ้างงาน การตลาด และสวัสดิการ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 1,174 ครัวเรือน ภายใต้กรอบการทำงานในพื้นที่ “4 กระบวนงาน 3 เป้าหมาย 2 กลยุทธ์ 1 โปรเจ็ค”
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ เป็นไปตาม road Map การทำงาน (กิจกรรมที่ 5) คือ สัมมนาข้าราชการคู่เสี่ยว จำนวน 330 ท่าน จาก 15 หน่วยงาน ใน 26 อำเภอ และคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการคู่เสี่ยวฯ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รูปแบบการทำงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจน สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อหารูปแบบการทำงานที่ดีที่สุด เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยมีกิจกรรม คือ 1) การเรียนรู้การใช้ ระบบสารสนเทศ Deep interview “survey village” โดยโครงการคืนทุนแผ่นดิน 2) เล่าเรื่องประสบการณ์ มข.แก้จน และแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากทีมอาจารย์ จากสถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ และประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจแก่ส่วนราชการ หน่วยงาน/องค์กรภาคีที่เกี่ยวข้องในทุกระดับในการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจน และหวังว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการทำงานที่ดีที่สุด (Best Practice) เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืนต่อไป