หลังจากที่พี่น้องประชาชนได้เก็บตัวในสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ทางรัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายระยะล่าสุด สามารถให้พี่น้องประชาชนได้ออกเดินทางข้ามเขตจังหวัดได้แล้วนั้น ทางการท่องเที่ยวห่งประเทศไทย จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วไปได้ออกมาท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติ แหล่งใหม่ๆที่ใกล้บ้านเราซึ่งสามารถเดินทางแบบไปกลับได้และเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบวิถีใหม่ New Normal โดย ททท.สำนักงานขอนแก่น จึงขอเสนอการท่องเที่ยวในเส้นทางกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ร้อยเอ็ด-ขอนแก่น-สารคาม-กาฬสินธิ์ ซึ่งบางท่านอาจจะยังไม่เคยไปสัมผัส ได้เวลาพาครอบครัว ชักชวนเพื่อนๆออกเที่ยวกันได้แล้ว และจะขอแนะนำสถานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ มีอะไรบ้าง ติดตามได้เลย…
![](https://cdn.bpicc.com/2020/08/29/..jpg)
“ฟาร์มปลูกสุข”
“ฟาร์มปลูกสุข” จะแบ่งเนื้อที่เป็นโซน โซนจำหน่ายอาหาร กาแฟ และเครื่องดื่ม นอกจากนั้น เป็นพื้นที่ให้ทำกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ ท่ามกลางธรรมชาติอยู่ใกล้ๆห่างจากตัวเมืองขอนแก่นเพียง 2 กม.จะมีนายเกรียงไกร สินโพธิ์หรือ…ลุงแอ๊ดใจดี…เป็นชื่อเรียกที่น้องๆจะคุ้นเคยกันดี …เจ้าของ“ฟาร์มปลูกสุข” คอยต้อนรับ…และการสนทนา ลุงแอ๊ดใจดี เล่าว่า ครั้งก่อนที่จะมาเป็น“ฟาร์มปลูกสุข” ลุงน้อมแนวเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยพ่อหลวง ร.9 คือปลูกทุกอย่างที่กินได้ เหลือก็นำไปขาย ปลูกทั้ง กล้วย มะนาว ฯลฯ ในพื้นที่กว่า25 ไร่ ทำไปเรื่อยๆค่อยๆทำ กระทั่งมีคนภายนอกเดินทางเข้ามาซื้อผักสดๆภายในฟาร์ม จากนั้นจึงเกิดไอเดีย สร้างอาคารแบบชิวๆให้ได้นั่งพักผ่อน ดื่มด่ำกับบรรยากาศภายในฟาร์ม และพัฒนามาจนครบวงจร ภายในพื้นที่จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ และปลูกผักที่ส่วนใหญ่เป็นสวนเกษตรและทุ่งนาให้นักท่องเที่ยวได้สนุกเพลิดเพลินกับธรรมชาตินอกจากนั้น “ฟาร์มปลูกสุข” ยังมีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ มีศูนย์เรียนรู้การปลูกผัก ปลูกข้าว ให้อาหารสัตว์กระต่าย ปลา ไก่ ห่าน สระน้ำขนาดใหญ่ พายเรือกับครอบครัวในลำคลอง ลุงแอ๊ดฝากถึงเด็กๆว่า ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยเด็กทุกคนที่จะลงเรือหรือลงเล่นน้ำต้องสวมเสื้อชูชีพทุกคน (ไม่สวมไม่ได้ลงนะคะ555)สำหรับคนชอบถ่ายภาพก็มีจุดจัดไว้สำหรับถ่ายภาพอีกมากมายทั้งยังมีบ้านไม้หลังเก่าเรียกว่า เฮือนโฮมฮักเป็นที่เก็บของสะสมของเก่าที่หาดูได้ยาก มีชิงช้ายักษ์คู่ เก้าอี้ยักษ์ที่อาจจะยักษ์ใหญ่ที่สุดในโลก (หรือเปล่านะ!) สะพานไม้ทอดยาวเข้าไปกลางทุ่งนาผืนใหญ่ที่มีต้นข้าวเขียวชอุ่มซึ่งที่นี่ทำทั้งนาปี และนาปรัง /ช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ เวลา 15.30-18.30 น. ต้องมาสัมผัสกับนกแก้วมาคอว์โชว์การฝึกนกบินรอบๆทุ่งนาภายในฟาร์มถ่ายรูปและให้อาหารกับนกแก้วมาคอว์สวยๆน่ารักและแสนรู้กว่าสิบตัว หรือจะนั่งชิวๆจิปกาแฟ เครื่องดื่ม และทานอาหารท่ามกลางธรรมชาติหลากหลายเมนู ที่ “ฟาร์มปลูกสุข”เรียกได้ว่ามาที่เดียวเที่ยวได้ทั้งวันเลยทีเดียว
#ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
#เปิดทุกวัน10.00-21.00น.
#ติดต่อสอบถาม 084-5115100
#ที่ตั้ง :บ้านดอนยาง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
#แผนที่คลิกด้านล่าง
https:/ /maps.app.goo.gl/oYzNSDcpYeG51
วัดพุทธาวาสภูสิงห์ จังหวัดกาฬสินธุ์
วัดพุทธาวาส ภูสิงห์อำเภอสหัสขันธ์ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 34 กิโลเมตร การเดินทางขึ้นบนยอดเขาสามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ บันไดเดินเท้าจำนวน 417 ขั้น และถนนลาดยางระยะทาง 3 กิโลเมตร คดเคี้ยวขึ้นตามไหล่เขาทางทิศตะวันตกมารวิชัย มีพุทธลักษณะสง่างาม เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีขนาดหน้าตักกว้าง 10.50เมตร สูง 17.80เมตร ประดิษฐานบนยอดเขาภูสิงห์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ346 เมตร ถือกันว่าเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่มีพระลักษณะสมส่วนและสวยงามที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย มีพระวรกายสง่างาม พระพักตร์อิ่มเอิบ พระเนตรทั้ง2 สดใสเปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรมยังความสบายใจให้เกิดแก่ผู้พบเห็นและเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่ได้กราบไหว้บูชา พระพรมภูมิปาโลพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่สีขาวสร้างเมื่อวันที่ 14 เดือน เมษายน พุทธศักราช 2511
พุทธสถานภูสิงห์ เป็นศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนา ศูนย์เรียนรู้นิเวศวัฒนธรรม และศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชน และเป็นสถานที่พักผ่อนจิตใจชมธรรมชาติบริเวณโดยรอบร่มรื่นสามารถมองเป็นทิวทัศน์ได้รอบด้าน คือด้านทิศใต้จะมองเห็นภูมิภาพอันสวยงามของทะเลสาบเหนือเขื่อนชลลำปาวและสภาพบ้านเมืองของเทศบาลตำบลโนนบุรีด้านทิศตะวันออกจะมองเป็นทิวทัศน์อันงดงามของ ภูปอ ภูค่าว ภูเป้งและภูกุ้มข้าว ประหนึ่งสวนพฤกษาธรรมชาติ ที่สร้างไว้อย่างงดงามด้านทิศตะวันตกจะมองเป็นทิวเขาคันโทในเขตอำเภอท่าคันโทที่อยู่ไกลสุดขอบฟ้าและเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง
หากมีโอกาสผ่านมาที่ทางอำเภอสหัสขันธ์จังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องแวะมาสักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อเป็นสิริมงคลกันนะคะ
ตั้งอยู่ : 33/7 วัดพุทธาวาสภูสิงห์อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 46140
กู่สันตรัตน์ จ.มหาสารคาม
กู่สันตรัตน์ การเดินทาง:ใช้เส้นทางหมายเลข2040ผ่านอำเภอแกดำอำเภอวาปีปทุมเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหมายเลข2045(เข้าอำเภอนาดูน)ประมาณ1กิโลเมตรจะอยู่ทางขวามือ
กู่สันตรัตน์มีลักษณะที่โดดเด่น สวยงามเป็นศิลปะขอมแบบบายนเป็นปราสาทแบบย่อมๆ ตั้งอยู่บนฐานชั้นเดียวสร้างด้วยศิลาแลง เป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกับป้อมปราการแต่ว่าภายในมีลักษณะโล่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ช่องประตูดูเป็นกรอบสี่เหลี่ยมสวยงามจะมองแผ่นทับหลังอยู่เหนือประตูปรากฏอยู่มีเสาประดับที่กรอบประตูทั้งสองด้าน แผ่นทับหลังและเสาประดับกรอบประตูทำด้วยหินทรายแต่ไม่มีการสลักลาย จึงดูคล้ายกับว่าสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์เพราะทางด้านหน้าตอนบนนั้นมีช่องว่างเว้นไว้ เป็นช่องสามเหลี่ยม เรียกว่า หน้าบัน ที่จะทำด้วยหินทรายซึ่งคงต้องสลักลวดลายประกอบด้วย สิ่งสำคัญต่อมาคือแผ่นทับหลัง ที่ตั้งอยู่เหนือกรอบประตูนั้นมีแผ่นหินทรายวางไว้ แต่ยังไม่มีการสักลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น โดยทั่วไปแผ่นทับหลังต้องมีการสลักลายหรือภาพประกอบไว้เสมอ แม้เสาประดับกรอบประตูทั้ง 2 ด้าน ก็มักสลักลายประดับเช่นกัน แต่เสาที่อยู่ติดกรอบประตูทางด้านซ้ายนั้นยังเป็นแท่งหินทรายเรียบๆไม่มีลวดลายใดๆทั้งสิ้นคงมีเฉพาะเสาประดับกรอบประตูทางด้านขวาของปราสาทเท่านั้นที่ยังคงมีให้เห็นอย่างคร่าวๆ จากลักษณะดังกล่าวจึงเป็นหลักฐาน สันนิฐาน ได้ว่า ปราสาทองค์นี้ยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์การสร้างเป็นไปตามแบบที่เป็นลักษณะเฉพาะของขอม คือแม้องค์ปราสาทจะก่อด้วยหินทรายหรือศิลาแลง แต่ส่วนสำคัญทั้ง 3 คือ หน้าบัน ทับหลัง และเสาประดับกรอบประตูต้องทำด้วยหินทรายเสมอ ทั้งนี้เพราะหินทรายมีคุณสมบัติเหมาะกับการแกะสลัก ในสถาปัตยกรรมหินทรายโดยเฉพาะ
ที่ตั้ง : บ้านกู่โนนเมือง ตำบลกู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
กู่กาสิงห์ (วัดบูรพากู่กาสิงห์น้อย)
กู่กาสิงห์ พิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทหรือเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ตามแบบอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ชาวบ้านเรียกชื่อกู่กาสิงห์ตามประติมากรรมสิงห์ ๒ ตัว ที่ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าซึ่งสูญหายแล้ว ปัจจุบันกู่กาสิงห์ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดบูรพากู่กาสิงห์น้อยเพราะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน
บริเวณกู่กาสิงห์ จะมีปราสาท ๓ หลัง และอาคารบรรณาลัย ๒ หลัง ภายในกำแพงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาท ภายนอกกำแพง จะมีคูน้ำรูปตัว U ที่ล้อมรอบกำแพงด้านนอก และสระน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท
กู่กาสิงห์ เป็นปราสาทอิฐแบบเขมรสมัยบาปวน ๓ หลัง ตั้งบนฐานศิลาแลงเดียวกัน โครงสร้างก่อด้วยอิฐแต่ส่วนประดับใช้หินทราย สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาททั้ง ๓ หลัง เรียงกันไปตามแนวทิศเหนือทิศใต้ ปราสาทหลังกลางเป็นองค์ประธานที่ภายในประดิษฐานศิวลึงค์ทำจากหินสีเขียว ด้านหน้าปราสาทประธานเป็นมณฑปประดิษฐานโคนนทิ ส่วนปราสาทหลังใต้แต่เดิมอาจจะประดิษฐานเทพบริวารของพระอิศวร บรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลงสร้างหันหน้าอาคารไปทางด้านทิศตะวันตกเข้าสู่กลุ่มปราสาท มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ด้านหน้าต่อห้องมุขเป็นประตูทางเข้า กำแพงก่อด้วยศิลาแลงผสมอิฐ ขนาดกว้าง ๓๕ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อเก็จมีประตูทางเข้า (โคปุระ) รูปกากบาททางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ตอนกลางแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศใต้ ก่อเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีประตูเชื่อมกับพื้นที่ด้านใน หลักฐานสำคัญที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี คือเครื่องประดับทองคำรูปนาค ๕ เศียร และแผ่นทองคำที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ กำหนดอายุสมัยในศิลปะเขมรสมัยบาปวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด
เอกลักษณ์ของปราสาทกู่กาสิงห์ คือ การวางผังอาคารแบบกลุ่มปราสาทอิฐ ๓ หลัง บนฐานเดียวกันที่พบในกลุ่มปราสาทเขมรที่มีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลงมา เช่นที่กู่พระโกนา และมีความต่างออกไปจากการวางผังอโรคยาศาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่นที่กู่กระโดน
ตั้งอยู่ที่ : บ้านกู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
พื้นที่:เปิดให้เข้าเที่ยวชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :045 312 845