
ส.ป.ก. จัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานการประชุม รับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมี นายปรีชา ลิ้มถวิล ผู้อำนวยการสำนักกฏหมาย และคณะ เป็นฝ่ายเลขานุการ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย อดีตผู้บริหาร ส.ป.ก. อาทิ นายสมพร ภู่พัฒน์วิบูลย์ นายบพิตร อมราภิบาล นางเปรมจิต สังขพงษ์ นายธนู มีแสงเงิน ผู้อำนวยการสำนัก/กอง/ศูนย์, ผู้เชี่ยวชาญฯ, ส.ป.ก. ส่วนภูมิภาค ๑๘ จังหวัด ผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ และระบบประชุมทางไกลออนไลน์ ZOOM Meeting
การจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ นี้ เนื่องด้วย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา โครงการศึกษาปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรและประชาชน เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๗ และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากบุคคล ซึ่งได้รับหรืออาจได้รับผลกระทบ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายในด้านการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือผลกระทบอื่นที่สำคัญ
ในการนี้ สำนักกฎหมาย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จึงได้จัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมี อาจารย์ธำรงลักษณ์ ลาพิณี กรรมการร่างกฏหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้สรุปภาพรวมของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ และรวบรวมความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้ถูกเสนอแนะเข้ามาในการประชุมครั้งนี้ ทั้งจากเกษตรกรในพื้นที่ อดีตผู้บริหาร ส.ป.ก. รวมถึงหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินใหม่ทั้งฉบับ ให้เหมาะสมกับสภาพกาล และสภาพสังคมในปัจจุบันต่อไป










